Category Archives: เปิดโลกอาสา #3 : งานเยียวยาและดูแล

เปิดโลกอาสา : โครงการอาสาเพื่อนรับฟัง

544872_475326205823596_1638626484_n

เมื่อพูดถึงคำว่า “เพื่อน” แล้ว เราได้ทำอะไรบ้างที่แสดงถึงความเป็นเพื่อนให้เขาเหล่านั้น แต่ละคนอาจทำหน้าของเพื่อนในรูปแบบแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะไปเที่ยวด้วยกัน เป็นที่ปรึกษา ขอยืมเงิน หรือแม้กระทั่งเป็นคนที่เราสามารถระบายความรู้สึกต่างๆ ให้ฟังได้อย่างเปิดเผยจริงใจ

สำหรับกลุ่มอาสา “เพื่อนรับฟังเพื่อความเข้าใจ” แล้ว ความเป็นเพื่อนหมายถึงความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หรือมีสถานะเป็นใครในสังคม ก็สามารถเท่าเทียมกันได้ จากการรับฟังกันและกัน “…เพราะเมื่อเรารับฟังกัน เราก็เท่ากัน เป็นเพื่อนกันได้” พี่เพนกวิน (พรเพ็ญ วงศ์กิจมโนชัย) ตัวแทนโครงการอาสาเพื่อนรับฟังเพื่อความเข้าใจกล่าวในงานเปิดโลกอาสา ที่ครั้งนี้จัดประเด็นเรื่องงานเยียวยาและดูแล

DSC01901

กลุ่มอาสาเพื่อนรับฟังฯ จัดกิจกรรมเฉพาะกิจขึ้นเวลาเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ต้องการการดูแลในสังคม โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2553 โครงการได้อบรมทักษะการฟังให้อาสากว่า 20 ชีวิต และลงพื้นที่ทำงานอาสาด้วยการรับฟังชาวบ้านอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ เป็นคนที่พร้อมจะเปิดโอกาสให้คุณลุงคุณป้าได้ระบายความรู้สึกและความต้องการเป็นเวลาสองชั่วโมงเต็ม รวมถึงไปรับฟังผู้ประสบภัยนำท่วมใหญ่ปี 2554 และล่าสุดได้เดินทางไปรับฟังชาวบ้านเกี่ยวกับกรณีเขื่อนแม่วงก์

“จริงๆ สังคมไทยต้องการการฟังเป็นอย่างมาก บางทีการได้ยินกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาที่เราไม่ได้ยินกัน เราก็จะอยากให้คนอื่นได้ยินเรา เราก็จะตะโกนเสียงดังขึ้น ดังขึ้น จนกระทั่งคล้ายๆ กับก่อความรุนแรง” พี่เพนกวินบอก

อาสาที่ได้ร่วมกิจกรรมก็ได้เรียนรู้และพบประสบการณ์จริงกับตัวเองว่าเพียงแค่รับฟังกันจริงๆ ก็ช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น ลึกลงไปมากกว่าข้อเรียกร้องภายนอก เพราะหากใส่ใจฟังจริงๆ จะเห็นว่าทุกคนต่างก็มีที่มาที่ไปที่ต่างกัน และได้เห็นว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐานอยู่จริงๆ

IMG_5449

พี่เพนกวินแบ่งปันว่า นอกจากการรับฟังจะดูแลความขัดแย้งในสังคมแล้ว ยังช่วยรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวของด้วยเช่นกัน “เวลาเราอยู่ที่บ้านคุยกับพ่อ ก็จะเหมือนว่าเขาพูดเหมือนเดิมๆ แต่พอเราฟังจริงๆ จะรู้สึกว่าเราได้ยินเสียงเขามากขึ้น เห็นว่าเขาก็คงเป็นกังวลหรือมีความทุกข์บางอย่าง แล้วเขาก็คงอยากจะเล่าให้เราฟัง เพราะเห็นว่าเราฟังเขาได้

เมื่อเราฟังเขามากขึ้น ก็เข้าใจเขามากขึ้น ก็โกรธเขาไม่ลง…” เป็นหนึ่งเสียงที่ยืนยันให้เราได้เห็นกับตา สัมผัสกับใจ ว่าการดูแลความสัมพันธ์นั้น บางทีอาจย้อนกลับมาที่วิธีการง่ายๆ ด้วยการเริ่มต้นที่จะใส่ใจรับฟังกันก็เป็นได้

เปิดโลกอาสา : โครงการอาสาข้างเตียง

V-World3 Quote

น่าแปลกที่พอพูดถึงเรื่องความตาย เรามักเกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงหลายอย่าง บ้างอาจจะกลัวทำให้ไม่อยากพูดถึง และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งๆ ที่เราทุกคนต่างรู้ดีว่ามันเป็นจุดร่วมจุดหนึ่งของการเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต สำหรับหลายคนความตายอาจเป็นเรื่องที่ยังดูไกลตัว แต่สำหรับบางคนนั้น ความตายแทบจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกลมหายใจ

พี่เพี้ย (เพ็รชลดา ซึ้งจิตสิริโรจน์) ผู้จัดกิจกรรมอาสาข้างเตียง ดูแลเยียวยากลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล ได้มองเห็นความสำคัญของช่วงชีวิตที่เหลือและอยากจะทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ ของผู้ป่วยนั้นยังมีคุณค่า ด้วยการจัดกิจกรรมให้อาสาได้เข้าไปดูแลจิตใจผู้ป่วย ผ่านการให้เวลาและรับฟังกัน

P1010992

จากการได้เผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต ทำให้พี่เพี้ย, อาสาและผู้ป่วยต่างได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการรับฟัง เพราะเพียงแค่รับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังเสียงของความรู้สึกและความต้องการของคนตรงหน้าจริงๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นการเยียวยาจิตใจได้โดยไม่ต้องสรรหาวิธีการอื่นใดมากไปกว่านี้

“นักศึกษามีคนไข้ที่อีกไม่กี่วันจะเสีย พอนักศึกษาเข้าไป แกก็เล่าอย่างเดียว ใส่ๆๆ ใหญ่เลย นักศึกษาก็ถามว่าทำอะไรให้มากกว่านี้ไหม เขาบอกว่าไม่ต้องหรอก พอเขาคุยจนหมดแรงแล้วสามวัน เขาบอกว่าตั้งแต่เกิดมา ไม่มีใครมาฟังเรื่องของเขา ถ้าเขาตายไปตอนนี้ก็โอเคแล้ว เพราะว่าเรื่องของเขาที่มันไม่ได้น่าสนใจมาก แต่มันมีคนมาฟัง” พี่เพี้ยยกตัวอย่างเรื่องจริงให้เราฟัง

P1010979

“การดูแลคนป่วยทางกายอย่างเดียวไม่พอ ต้องทางใจด้วย” พี่เพี้ยบอก อาสาข้างเตียงที่เข้าไปดูแลคนไข้ก็จะต้องผ่านการสัมภาษณ์และอบรมก่อน และจากกิจกรรมที่ดูแลคนไข้ แบบหนึ่งต่อหนึ่ง เป็นระยะเวลาสามเดือน อาสาเองก็ได้เรียนรู้เรื่องการวางใจกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดฝัน และได้ฝึกดูแลความคาดหวังของตัวเองด้วย ที่การมาทำกิจกรรมบางครั้ง ผู้ป่วยก็มีอาจความไม่พร้อมขึ้นมา หรืออาจจากไปเร็วกว่าที่คิด

พี่เพี้ยบอกเราว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนมีพื้นฐานในการเยียวยาอยู่ในตัวแล้ว เพียงแค่เราเปิดให้พื้นฐานนั้นออกมาเท่านั้นเอง ส่วนตัวเธอเองนั้น เมื่อได้ทำโครงการอาสาข้างเตียงมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ก็ได้เรียนรู้เรื่องการปล่อยวางส่ิงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต “เมื่อเราเริ่มปล่อยวางสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตได้ เราก็จะปล่อยวางสิ่งที่ใหญ่ขึ้นได้ ไปจนถึงเรื่องของความตาย แล้วทำให้โกรธน้อยลงด้วย…” ทำให้เห็นว่างานอาสานั้น ก็สามารถเป็นงานที่คนทำงานและอาสาเองสามารถเรียนรู้และได้ขัดเกลาจิตใจไปด้วยเช่นกัน

ติดต่อ โครงการอาสาข้างเตียง

website : http://budnet.org/peacefuldeath/node/70

องค์กร : เครือข่ายพุทธิกา

โทร : 085-919-7616

เปิดโลกอาสา : โรงพยาบาลมีสุข

536400_475654979124052_647977487_n

“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นถ้อยคำที่เราได้ยินมานานและหลายคนคงได้พบประสบการณ์ตรงที่ทำให้นึกถึงข้อความนี้ขึ้นมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำให้ “โรงพยาบาล” และ “ความสุข” ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอยู่คู่กันได้ เพราะครั้นนึกถึงโรงพยาบาล เราก็จะเห็นแต่ความเจ็บป่วย, ความทุกข์และการสูญเสีย ไม่ค่อยพบเจ้าความสุขเดินเล่นอยู่ในโรงพยาบาลสักเท่าไหร่

หนึ่งในคนที่มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและอยากจะสร้างพื้นที่ของความสุขเล็กๆ ที่เรียบง่ายภายในโรงพยาบาลคือ พี่เก่ง (กรวิกา ก้อนแก้ว) ที่เริ่มต้นโครงการ “โรงพยาบาลมีสุข” พากลุ่มอาสาเข้าไปทำกิจกรรมกับน้องที่ป่วยที่ต้องพักในโรงพยาบาล และไม่เพียงแต่สร้างความสุขใหเด็กป่วย การทำกิจกรรมยังช่วยสร้างรอยยิ้มให้พยาบาลและคุณหมอที่รับศึกหนักตลอดทั้งวันอีกด้วย

IMG_0650
“ความเจ็บป่วย บางทีเรามองว่ามันเศร้านะ ที่จริงครอบครัวของเขาพยายามจะสร้างกำลังใจให้กันตลอดเวลา แต่บางทีมันแค่หมดเฉยๆ … มันต้องการคนไปเติมแค่นั้น” พี่เก่งบอกถึงที่มาของโครงการ

มีน้องในโรงพยาบาลหลายคนที่ต้องอยู่นานหลายเดือนเพราะเป็นมะเร็ง ทำให้ขาดเรียนและไม่ได้ติดต่อกับเพื่อน พ่อแม่ไปทำงานจึงไม่มีเวลาเฝ้าได้เต็มที่ กลุ่มอาสาก็ได้เข้าไปช่วยสอนบางวิชา สอนทักษะชีวิตและมีการสื่อ ICT เข้าไปให้เรียนรู้ด้วย

อาสาเองก็ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่บางครั้งน้องก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะทำกิจกรรมหรือต้องจากไปอย่างไม่คาดฝัน ดังนั้นจึงต้องมีการปฐมนิเทศให้อาสาก่อนเริ่มและถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรมทุกครั้ง เพราะอาสาเองก็ต้องฝึกที่จะดูแลจิตใจตัวเองเช่นกัน ที่ต้องยืนอยู่ระหว่างจุดที่ต้องพร้อมจะเติมเต็มความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงของชีวิตด้วย

26102009386
“เราเคยชวนเด็กปั้นดินน้ำมัน เด็กปั้นเป็นรูปผลไม้ แล้วหยิบรูปกล้วยขึ้นมา เราก็ถามว่า ทำไมหยิบรูปกล้วยขึ้นมา เขาบอกว่า เวลากินยา ถ้ามันง่ายเหมือนกินกล้วยก็ดีเนาะ … เก่งมองว่าเด็กป่วยมองชีวิตละเอียดกว่าเรานะ” พี่เก่งบอกว่าเธอเองก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการทำงานนี้ด้วย จากเดิมที่เคยเป็นคนเกรี้ยวกราด ก็ทำให้เธอละเอียดมากขึ้น

ทุกวันนี้ก็ยังมีกลุ่มอาสาเข้ามาร่วมกิจกรรมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ที่โรงพยาบาลเด็กและโรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมงานก็เดินหน้าเรียนรู้ไปพร้อมกัน ช่วยดูแลและเยียวยาทั้งเด็กป่วยและคนทำงานในโรงพยาบาล สร้างพื้นที่ของความสุขเรียบง่าย และทำให้เห็นว่า “ความสุข” และ “โรงพยาบาล” นั้น สามารถอยู่คู่กันได้จริงๆ

ติดต่อ โครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา

website : http://www.mirror.or.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=299&auto_id=2&TopicPk=5

facebook page : http://on.fb.me/Z86I7Q